"บ้านนาหลังคาแดง" แหล่งการเรียนรู้ชุมชน


ในเนื้อที่ 12 ไร่ ณ เลขที่ 138 หมู่ 6 บ้านสันนายาว ตำบลศรีค้ำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ถูกเนรมิตให้เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน ที่หากใคร ๆ ได้แวะเวียนเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ นอกจากบรรยากาศความร่มรื่น ความหลากหลายของต้นไม้ใบหญ้าที่ได้สัมผัสแล้ว ตามรายทางทุกย่างก้าว ยังได้รับความรู้เสริมปัญญาที่เจ้าของพื้นที่พยายามถ่ายทอดทั้งเรื่องของสรรพคุณพืชผลต่าง ๆ รวมไปถึงการบัญญัติข้อคิด เตือนสติดี ๆ
“ลุงแปลกแห่งสวนบ้านนาหลังคาแดง” คือชื่อเจ้าของพื้นที่ แห่งนี้ที่ชาวบ้านมักจะเรียกขานอย่างเป็นกันเอง พร้อมกับสโลแกนที่ ลุงแปลก ติดป้ายหน้าประตูทางเข้าว่า “แหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สู่ชีววิถีวัฒนธรรม ล้านนา สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ดินแดนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


“ลุงแปลก” หรือชื่อเต็มว่า นายแปลก เดชะบุญ เป็นคนแม่จัน จังหวัดเชียงรายโดยกำเนิด อดีตข้าราชการครูสังกัดวิทยาลัยเกษตรและ เทคโนโลยีเชียงราย ซึ่งใช้ชีวิตส่วนหนึ่งเก็บเกี่ยวประสบการณ์กับการทำโครงการพิเศษเกี่ยวกับพี่น้องชาวบ้านและชุมชนทั้งพื้นราบและบนดอย การเข้าร่วมโครงการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง โครงการชีววิถีเพื่อพัฒนาแบบยั่งยืน เวทีสมัชชาสุขภาพและเครือข่ายบ้านจุ้มเมืองเย็น อำเภอแม่จัน และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่จัน

อาจารย์แปลกได้ลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2547 เพื่อมาสานต่องานที่ตนเองรัก โดยการนำที่ดินซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากรุ่นพ่อแม่ที่มีอาชีพทำนา ปลูกผัก พืชไร่ มาปรับเปลี่ยนเป็นสวนเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกทุกอย่างที่กินได้ กินทุกอย่างที่ปลูก ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทำการเกษตรที่เอื้อต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (เกษตรอินทรีย์) และที่สำคัญคือการทำให้พื้นดินแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย



สวนบ้านนาหลังคาแดงแห่งนี้มีต้นไม้กว่า 3,000 ต้น ซึ่งกิจกรรมที่ทำมีทั้งการขยายและรวบรวมพันธุ์พืชผักพืชบ้าน สมุนไพร ในภาคเหนือตอนบนให้มากที่สุด เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และให้เป็นจุดทัศนศึกษา การเลี้ยงสัตว์ ทั้งเป็ด ไก่ ห่าน วัว ควาย ม้า หมู หมูป่า ปลาต่าง ๆ เพื่อใช้งานและเป็นอาหารในชีวิตประจำวัน การทำปุ๋ยหมักชีวภาพจากมูลสัตว์ ขยะธรรมชาติ เศษพืชผักผลไม้ เศษอาหาร ฯลฯ การเลี้ยงผึ้งแบบปลอดสารพิษและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเลี้ยงสัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ แบบผสมผสานโดยยึดหลักการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และพึ่งตนเองโดยไม่ใช้การลงทุน ที่มากหรือที่เรียกว่า “การเกษตรเชิงนิเวศวิทยา” การทำที่พัก (โรงแรมชาวนา) ให้มิตรสหายได้มาพักเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ปลูกไผ่ทุกชนิดให้เป็นแนวรั้ว เพื่อให้อนุชนได้ศึกษาความเป็นมาของไผ่ แต่ละชนิด 



และการผลิตข้าวซ้อมมือเพื่อใช้ในการบริโภคเพื่อป้องกันโรค ขาดวิตามิน
โดยผลผลิตทุกวันนี้มีเลี้ยงปากเลี้ยงท้องอย่างพอเพียงไม่ต้องหาซื้อ และยังสามารถเผื่อแผ่ไว้ต้อนรับแขก เหลือก็เก็บขาย ชนิดที่เรียกว่า “ไม่อดตาย”







  
 นอกจากนี้ ลุงแปลก ยังมีแผนงานที่จะเดินหน้าทำต่อไปทั้งเรื่องการใช้พลังงาน และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เช่น เตาเผาถ่าน บ่อแก๊สชีวภาพ ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ การนำพลังน้ำ พลังลมมาใช้ การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อกำจัดขยะ และทำปุ๋ยไส้เดือน การทำห้างนา (ที่พักชาวนาช่วงฤดูทำนา) เพื่อ ได้สัมผัสบรรยากาศการทำนาข้าวทุกขั้นตอน ศึกษาการปรับปรุงดินโดยการปลูกหญ้าแฝก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ฯลฯ การจัดกาดแลงพืชบ้าน อาหารพืชเมือง โดยเน้นสินค้าที่เป็นของพื้นบ้านเพื่อการบริโภคอาหารที่ปลอดสารพิษ จัดค่ายศึกษาเรียนรู้เยาวชนเพื่อปลูกฝังการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมในอดีตของบรรพบุรุษ การเก็บน้ำฝนไว้ใช้ การทำบ้านดินเพื่อเป็นทางเลือกของคนติดดินที่มีความพอเพียง และการเข้าค่ายเรียนรู้ตามรอยพระบาท แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของผู้นำและเยาวชน
  




ข้าฯ หมูป่า     จากป่า     มาอยู่บ้าน
 ขอทำบ้าน     ให้เป็นป่า     น่าอาศัย
ข้าฯอยู่ป่า      กินของป่า     มาแต่ไร
   ลูกหลานได้     อาศัยป่า     มาช้านาน



อาจารย์แปลก ยังบอกถึงปณิธานว่า “ที่ผมมาสร้างที่นี่ เพื่อหวังที่จะรักษาสิ่งที่ดีงามที่ปู่ ย่า ตา ยาย ของพวกเราได้คิด ได้ทำ สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคนเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของครอบครัว ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ผมไม่อยากให้สิ่งดี ๆ หลายอย่างถูกลบเลือนหายไปตามกาลเวลา และผมอยากช่วยเหลือเพื่อให้ชีวิตคนที่อยู่ร่วมโลกของเราได้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น”
สำหรับนิยามของคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง ในความคิดของอาจารย์แปลกนั้นคือ ทำอะไรให้รู้จักมัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง ทำอะไรให้รู้จักความพอดี และรู้จักการแบ่งปันผู้อื่น



"การได้มีโอกาสถ่ายทอดสิ่งที่รู้ให้กับกลุ่มคนทุกระดับที่ผ่านประตูรั้วเข้ามาสู่สวนบ้านนาหลังคาแดง และเหนือสิ่งอื่นใดคือความสุขที่ได้มีเพื่อน จากการมาเยี่ยมเยือนเพิ่มขึ้นทุกวัน คือสิ่งตอบแทนที่มีค่า ที่อาจารย์แปลก เดชะบุญ บอกด้วยความภาคภูมิใจ."